ไปรษณีย์ไทย ปรับขยายเพดานอัตราเงินเดือนขั้นสูงสุด มติ ครม.

มติ ครม. เห็นชอบปรับขยายเพดานอัตราเงินเดือนขั้นสูงสุดของ “ไปรษณีย์ไทย” เฉพาะตำแหน่งระดับ 10-12 หลังไม่ได้ปรับมา 18 ปี ชี้ เงินเดือนผู้บริหารต่ำกว่าค่าจ้างรัฐวิสาหกิจและตลาดแรงงานภาคเอกชน หวังดึงดูดผู้มีศักยภาพร่วมองค์กร

ไปรษณีย์ไทย

ครม. เห็นชอบขยายเพดานอัตราเงินเดือนขั้นสูงสุด “ไปรษณีย์ไทย

วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการปรับขยายเพดานอัตราค่าจ้างขั้นสูงของพนักงานบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) (การปรับขยายเพดานฯ) ตามมติคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครรส.) ในการประชุมครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 และความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ ดังนี้

ระดับ 12 อัตราเดิม 113,520 บาท อัตราใหม่ที่ขอขยาย 142,830 บาท
ระดับ 11 อัตราเดิม 108,810 บาท อัตราใหม่ที่ขอขยาย 133,770 บาท
ระดับ 10 อัตราเดิม 104,310 บาท อัตราใหม่ที่ขอขยาย 124,770 บาท
ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป


สาระสำคัญ คือ ปณท เป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้ ดศ. มีภารกิจในการให้บริการรับ/ส่งข่าวสาร สิ่งของ บริการการเงิน และบริการตัวแทนแก่ประชาชนทั่วประเทศ ปัจจุบัน ปณท เป็นรัฐวิสาหกิจที่ใช้บัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือน 53 ขั้น และกำหนดโครงสร้างอัตราเงินเดือนขั้นต่ำ ขั้นสูง จำแนกเป็น 12 ระดับ โดยมีอัตราเงินเดือนสูงสุด ขั้นที่ 46.5 อัตรา 113,520 บาท ซึ่งบัญชีโครงสร้างที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้มีการปรับตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งไม่สอดคล้องกับภาระงานที่มีการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงาน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้จัดการฝ่ายที่อยู่ภายใต้โครงสร้างเงินเดือนดังกล่าว ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบาย วิสัยทัศน์ เป้าหมาย กลยุทธ์ รวมทั้งขับเคลื่อนการดำเนินงานของ ปณท ภายใต้การแข่งขันทางธุรกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีศักยภาพ และหากพิจารณาจากขนาดองค์กร ภาระหน้าที่ ตลอดจนสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และการแข่งขันในตลาดธุรกิจขนส่งพบว่า อัตราเงินเดือนขั้นสูงของผู้บริหารของ ปณท มีอัตราต่ำกว่าอัตราค่าจ้างของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและตลาดแรงงานภาคเอกชน

โดยเป็นการเสนอ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบการปรับขยายเพดานอัตราค่าจ้างขั้นสูงของพนักงาน ปณท (การปรับขยายเพดานฯ) เฉพาะตำแหน่งที่ขยายเพดานขั้นสูงเกิน 113,520 บาท ดังนี้

  • ระดับ 12 (ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงาน) อัตราเดิม 113,520 บาท อัตราใหม่ที่ขอขยาย 142,830 บาท
  • ระดับ 11 (รองกรรมการผู้จัดการใหญ่) อัตราเดิม 108,810 บาท อัตราใหม่ที่ขอขยาย 133,770 บาท
  • ระดับ 10 (ผู้จัดการฝ่าย) อัตราเดิม 104,310 บาท อัตราใหม่ที่ขอขยาย 124,770 บาท

 


เนื่องจากบัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้มีการปรับตั้งแต่ปี 2550 (18 ปี) จึงทำให้ไม่สอดคล้องกับภาระงานที่มีการเปลี่ยนแปลง ประกอบกับตำแหน่งดังกล่าว เป็นผู้กำหนดนโยบาย วิสัยทัศน์ เป้าหมาย กลยุทธ์ รวมทั้งขับเคลื่อนการดำเนินงานของ ปณท ภายใต้การแข่งขันทางธุรกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องปรับขยายเพดานอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อดึงดูดผู้มีศักยภาพสูงจากภายนอกเข้ามาในองค์กร

ในการนี้ ปณท ได้พิจารณาการปรับขยายเพดานอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามหลักเกณฑ์เพื่อใช้ในการพิจารณากำหนดค่าตอบแทนระบบแรงจูงใจ และสวัสดิการต่างๆ ของรัฐวิสาหกิจในภาพรวมตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 เรียบร้อยแล้ว โดยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขยายเพดานฯ จำนวน 31.26 ล้านบาท (จำนวน 6.25 ล้านบาทต่อปี) ปณท จะใช้จ่ายจากงบประมาณของ ปณท ซึ่งไม่กระทบต่อสถานะทางการเงินในภาพรวมของ ปณท

นอกจากนี้ ปณท ยังได้กำหนดแผนการจัดหารายได้และแผนประหยัดค่าใช้จ่ายเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายบุคลากรที่จะเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครรส.) ในการประชุมครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 และสำนักงาน ก.พ. พิจารณาเห็นชอบด้วยแล้ว ขณะที่กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน สำนักงบประมาณ (สงป.) และสำนักงาน ก.พ.ร. พิจารณาแล้วไม่มีข้อขัดข้อง/เห็นด้วยในหลักการตามที่ ดศ. เสนอ แต่มีความเห็นเพิ่มเติม ซึ่ง ดศ. และ ปณท ควรรับไปพิจารณาดำเนินการ. shoujospain